ฟอร์ด (Ford) เปิดเผยตัวเลขประมาณการณ์ยอดจำหน่ายรถยนต์รวมในปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีการหดตัวไปประมาณ 8.5% หรือมียอดจำหน่ายรวมที่ 7.77 แสนคันเท่านั้น เทียบกับตัวเลขการขาย 8.49 แสนคันในปี 2565 เป็นผลมาจากการหดตัวของภาวะเศรษฐกิจ ที่ทำให้ลูกค้าโดยเฉพาะในตลาดรถกระบะระดับล่างไม่สามารถเป็นเจ้าของรถได้ในช่วงที่ผ่านมา
รัฐการ จูตะเสน กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตัวเลขยอดจำหน่ายดังกล่าวถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะถือว่ามียอดขายน้อยกว่าในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำยอดขายไปได้ 7.97 แสนคัน และอาจจะใช้เวลานานกว่าที่จะกลับไปที่ระดับ 1.04 ล้านคัน ซึ่งเป็นยอดขายระดับสูงสุดที่เคยทำกันได้ ทำให้ประเทศไทยมีอัตราการฟื้นตัวที่ช้าเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอาเซียน
“สัดส่วนของตลาดรถกระบะในประเทศไทยหดตัวลงไปเหลือเพียง 35% ของตลาด จากปีก่อนหน้านี้ที่อยู่ที่ 42% แต่หากดูในช่วง 3 เดือนท้ายจะพบว่าตัวเลขนั้นลดลงไปเหลือต่ำกว่า 30% หรือยอดจำหน่ายรายเดือนที่เคยทำได้ 2.4-2.5 หมื่นัน ก็ลดลงไปเหลือเพียง 1.75 หมื่นคัน สะท้อนให้เห็นถึงการเเปลี่ยนแปลงของตลาด และภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเป็นเจ้าของของลูกค้า”
ฟอร์ด ยังเดินหน้าเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตาม ฟอร์ด ประเทศไทย ก็ยังเดินหน้าสร้างยอดจำหน่ายได้อย่างแข็งแกร่ง โดยมียอดจำหน่ายรวม 36,483 คัน ขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์เบอร์ 4 ของประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งตลาด 4.7% และมียอดจำหน่ายในตลาดรถปิกอัพและพีพีวีในอันดับที่ 3 โดยฟอร์ด เรนเจอร์ (Ford Ranger) มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มจาก 8.5% เป็น 9.2% และฟอร์ด เอเวเรสต์ (Ford Everest) มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มจาก 14% เป็น 19% ในปีที่ผ่านมา และฟอรด์ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในปีนี้ไปอยู่ที่ 10.5% และ 22% ตามลำดับ
ลดความซับซ้อนของสินค้า เพิ่มความเข้มข้นทำตลาด
หนึ่งในมาตรการที่สำคัญของฟอร์ดก็คือการลดความซ้ำซ้อนของสินค้าที่ทำตลาด โดยฟอร์ด เรนเจอร์ ได้มีการประกาศลดรุ่นย่อยที่เดิมทำตลาดอยู่ 24 รุ่นลงไปเหลือไม่ถึง 12 รุ่น ซึ่งจะช่วยตัวแทนจำหน่ายในการจัดการสต๊อกสินค้า รวมถึงการจัดกิจกรรมทางการตลาดก็จะสามารถโฟกัสได้มากขึ้น ขณะที่เอเวเรสต์นั้นมีจำนวนรุ่นของสินค้าที่เหมาะสมอยู่แล้ว ซึ่งฟอร์ดได้วางแผนที่จะเปิดตัวสินค้าใหม่เพื่อกระตุ้นตลาดในปีนี้ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ลูกค้าที่รอซื้อฟอร์ด มัสแตง (Ford Mustang) รุ่นใหม่ ก็ขอประกาศว่าจะไม่มีการนำเข้ามาทำตลาดในปีนี้
ลุ้นเศรษฐกิจคืนชีพ ดันตลาดรวมขยายตัว 4-5%
รัฐการกล่าวว่า ในปีนี้ก็คาดหวังว่าภาวะเศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และอาจจะเห็นจีดีพีเติบโตที่ระดับ 3-4% ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จะส่งผลดีต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่น่าจะมีการขยายตัวเช่นเดียวกัน โดยหากเศรษฐกิจมีการขยายตัว อุตสาหกรรมยานยนต์ก็น่าจะเติบโตที่ไม่น้อยกว่า 4-5% หรือมียอดจำหน่ายที่ระดับ 8.3 แสนคัน ซึ่งก็ต้องมาจับตาดูว่า พฤติกรรมการซื้อรถของลูกค้าจะมีการปรับเปลี่ยนไปอย่างไรในช่วงปีนี้ รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นเช่นกัน
จับตาตลาดรถยนต์ไฟฟ้า แต่ไม่เปิดสินค้าเร็ว ๆ นี้
เมื่อมีคำถามว่า ผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนเข้ามามาก จะทำให้ฟอร์ดต้องเร่งนำเข้าสินค้าอีวีมาหรือไม่ รัฐการระบุว่า ในปีที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่อยู่ที่ระดับ 7.5 หมื่นคัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณ 9-10% ซึ่งถือเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า และฟอร์ดเองก็จับตาดูสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม จำเป็นที่จะต้องศึกษาแนวโน้มของอุตสาหกรรมอีวีทั่วโลกประกอบด้วย หากมีความสนใจจริง ก็อาจจะตัดสินใจนำสินค้าเข้ามาได้ในอนาคต
“ตอนนี้เราดูตลาดทั่วโลก จีนเคยมีสัดส่วนอีวีสูงถึง 30% และค่อย ๆ ลดลงมาเหลือ 20% ในปัจจุบัน ขณะที่ตลาดอื่น ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรปหรือญี่ปุ่นก็มีสัดส่วนไม่ถึง 10% ทั้งนั้น อีวีในประเทศไทย เติบโตจากเงื่อนไขของการกระตุ้นเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ทำให้ตั้งราคาจำหน่ายได้ถูกกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายใน และคนมองเรื่องความประหยัดเมื่อเทียบค่าไฟกับเชื้อเพลิงอื่น ๆ ซึ่งหากมีการปรับเปลี่ยนในอนาคต ก็ต้องมาดูความต้องการที่แท้จริงอีกครั้ง”
แต่ที่แน่ ๆ ฟอร์ดยังไม่กระโดดลงมาในเกมอีวีเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน!!!